การคลอดปกติ (normal labour หรือ eutocia) หมายถึง การคลอดทางช่องคลอดในครรภ์ครบกำหนด (อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถึง 42 สัปดาห์) ที่สิ้นสุดลงในลักษณะที่ศีรษะทารกคลอดออกมาก่อนด้วยการเอาท้ายทอยคลอดทางด้านหน้าของเชิงกราน โดยไม่ได้ให้การช่วยเหลือประการใดเท่าที่เป็นไปตามปกติ โดยตลอดทุกระยะของการคลอดใช้เวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ตลอดกระบวนการคลอด ทั้งนี้ กลไกการคลอด หมายถึง ลำดับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทารกภายในช่องทางคลอด โดยที่ทารกมีการปรับเปลี่ยนรูปร่างและรูปทรงเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะและรูปร่างของช่องทางคลอดเพื่อให้ผ่านออกสู่ภายนอก การคลอดปกติจะสามารถเกิดขึ้นผ่านกลไกการคลอด 8 ขั้นตอน ดังนี้

  1. Engagement หมายถึง ส่วนที่กว้างที่สุดของส่วนนำผ่านช่องทางเข้าของเชิงกราน (pelvic inlet) ลงมาแล้ว ปกติในทารกที่มีศีรษะเป็นส่วนนำถือว่าส่วนที่กว้างที่สุดของศีรษะคือ biparietal diameter
  2. Descent หมายถึง การเคลื่อนต่ำของศีรษะทารกผ่านช่องทางคลอดออกสู่ภายนอก กลไกนี้จะเกิดร่วมกับกลไกอื่นๆ ทุกระยะ ถ้าไม่มีการเคลื่อนต่ำของศีรษะทารกจะคลอดออกมาไม่ได้
  3. Flexion หมายถึง การก้มของศีรษะทารก เป็นการเปลี่ยนแปลง attitude ที่ส่วนศีรษะของทารก คือศีรษะจะก้มต่ำลงยิ่งขึ้น การก้มของศีรษะทารกมีความสำคัญที่จะทำให้เกิดการคลอดปกติ
  4. Internal rotation หมายถึง การหมุนของศีรษะทารกภายในช่องเชิงกรานเพื่อให้เหมาะสมกับช่องทางคลอดส่วนทางออก (pelvic outlet)
  5. Extension หมายถึง การเงยของศีรษะทารกขณะผ่านพ้นช่องทางคลอดออกมาภายนอก
  6. Restitution หมายถึง การหมุนกลับของศีรษะทารกเพื่อให้สัมพันธ์กับไหล่ที่อยู่ในช่องทางคลอด ทั้งนี้เนื่องจากขณะที่ศีรษะทารกอยู่ในลักษณะรอยต่อแสกกลางอยู่ในแนวหน้าหลัง (antero-posterior) ไหล่ทารกจะอยู่ในแนวเฉียงของช่องเชิงกราน นั่นคือศีรษะทารกจะหมุนบิดกลับตามธรรมชาติประมาณ 45 องศา เพื่อให้ตั้งฉากกับไหล่ที่อยู่ในช่องเชิงกราน
  7. External rotation หมายถึง การหมุนของศีรษะทารกต่อไปจนกระทั่ง sagittal suture อยู่ในแนว transverse ทั้งนี้เนื่องจากไหล่ซึ่งอยู่ในแนวเฉียงภายในช่องคลอดจะหมุนไปอยู่ในแนวหน้าหลัง (antero-posterior) เพื่อออกจากช่องคลอด
  8. Expulsion (birth of shoulder, trunks, hips and legs) หมายถึง การคลอดของไหล่ ลำตัว สะโพก และขา ผ่านช่องทางคลอดสู่ภายนอก

บทบาทของพยาบาลผดุงครรภ์ จำเป็นที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ และการนำไปใช้ในการให้การดูแลด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในระยะคลอด ซึ่งนับได้ว่าเป็นระยะวิกฤติที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้น นักศึกษาพยาบาลควรมีองค์ความรู้ในกลไกการคลอด ที่จะสามารถให้การดูแลให้การพยาบาลแก่มารดา และทารกในระยะคลอดได้อย่างปลอดภัย

กลไกการคลอดท่า LOA

กลไกการคลอด หมายถึง ลำดับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทารกภายในช่องทางคลอด โดยที่ทารกมีการปรับเปลี่ยนรูปร่างและรูปทรงเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะและรูปร่างของช่องทางคลอดเพื่อให้ผ่านออกสู่ภายนอก โดยทารกที่อยู่ในท่า LOA รอยต่อแสกกลางอยู่ในแนวขวางหรือเฉียงขวาลงขาแม่ ส่วนท้ายทอยอยู่ด้านหน้าของช่องเชิงกรานทางข้างซ้ายของแม่ จากนั้นจะเกิดกลไกการคลอดครบทั้ง 8 ขั้นตอน

6 thoughts on “LOA

  1. ดูแล้วมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นค่ะ

  2. การยกตัวอย่างมีหุ่นประกอบและมีรูปภาพแต่ละกลไกอยู่ข้างๆ ทำให้เห็นภาพชัดเจนและทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นค่ะ

  3. มีการสาธิตโดยใช้หุ่นเสมือนจริงทำให้มองเห็นภาพและเค้าใจมากขึ้นค่ะ

  4. ภาพและเสียงชัดเจนดีมากค่ะ มีการใช้หุ่นคุณลูซี่ที่สมจริงทำให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้นค่ะ

  5. มีการสาธิตให้ดู ทำให้เห็นภาพ มากยิ่งขึ้นค่ะ

  6. เสียงชัด ชเจนดีค่ะ ทำให้เข้าใจได้ขึ้นจากการได้เห็นการสาธิตค่ะ

Leave a Reply to กฤษณา จันทร์แก้ว Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *